แคดเมียม

แคดเมียม คือธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 48 และสัญลักษณ์คือ Cd แคดเมียมเป็นโลหะทรานซิชันสีขาว-ฟ้า เป็นธาตุมีพิษ ในธรรมชาติพบอยู่ในแร่สังกะสี แคดเมียมใช้ประโยชน์ในการทำแบตเตอรี่

แคดเมียมส่วนใหญ่ (3 ใน 4 ส่วน) ใช้สำหรับผลิตถ่านไฟฟ้า (โดยเฉพาะ ถ่าน Ni-Cd) และส่วนที่เหลือ (1 ใน 4 ส่วน) ส่วนใหญ่ใช้สำหรับทำสีผง สารเคลือบ และโลหะชุบ และเป็นสารทำให้พลาสติกมีความเสถียร อื่น ๆ มีเช่น

  1. ใช้ในโลหะผสมบางชนิดที่มีจุดหลอมละลายต่ำ
  2. เนื่องจากสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน (coefficient of friction) ต่ำ และทนทานต่อความล้า จึงใช้ในโลหะผสมสำหรับการรองรับ (bearing alloys)
  3. แคดเมียม 6% ใช้ในการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า
  4. บัดกรีหลายชนิดมีแคดเมียมผสม
  5. ใช้เป็นตัวกีดกั้นเพื่อควบคุมการแตกตัวทางนิวเคลียร์
  6. สารประกอบที่มีแคดเมียมใช้ในตัวฟอสเฟอร์ (phosphor) ของโทรทัศน์ขาวดำ รวมถึงฟอสเฟอร์สีน้ำเงินและสีเขียว สำหรับหลอดภาพของโทรทัศน์สี
  7. มีเกลือแคดเมียมหลายชนิด โดยที่แคดเมียม ซัลไฟด์เป็นเกลือที่ปรากฏมากที่สุด ซัลไฟด์ใช้เป็นสีเหลืองผง ส่วนแคดเมียม ซีลีไนด์ ใช้เป็นสีแดงผง มักเรียกว่า cadmium red
  8. ใช้ในสารกึ่งตัวนำบางชนิด เช่น แคดเมียม ซัลไฟด์ แคดเมียม ซีลีไนด์ และแคดเมียม เทลลูไรด์ซึ่งสามารถใช้สำหรับการตรวจจับแสง หรือโซลาร์เซลล์ HgCdTe มีความไวต่ออินฟราเรด
  9. สารประกอบแคดเมียมบางชนิดใช้ใน PVC เป็นตัวทำเสถียร
  10. ใช้ในเครื่องตรวจจับนิวตริโนเครื่องแรก
  11. ใช้บล็อก ช่องแคลเซียมที่ขึ้นกับแรงดันไฟฟ้า จากการฟลักซิง (fluxing) ไอออนของแคลเซียม ในชีววิทยาโมเลกุล

ความเป็นพิษ

แคดเมียมเป็นพิษต่อแบคทีเรียโดยเข้าไปแทนที่ไอออนที่จำเป็นต่อการทำงานของเอนไซม์ เช่น สังกะสี หรือจับกับหมู่ –SH ของเอนไซม์ ทำให้เอนไซม์ไม่ทำงาน คนที่ได้รับแคดเมียมมากเกินไปจะเป็นโรคอิไต-อิไต

ผลกระทบที่เข้าสู่ร่างกาย

เมื่อมีการสะสมในระยะยาว จะมีผลกระทบต่อร่างกายดังนี้

  1. หากมีการสะสมมากเกินไปในร่างกายจะทำให้คน หรือสัตว์ที่ได้รับสารแคดเมียม มีโอกาสเป็นหมันได้
  2. แคดเมียมยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งและต่อมลูกหมาก
  3. เมื่อแคดเมียมได้เข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
  4. การสูดดมแคดเมียมและไปสะสมในร่างกายจะทำให้เกิดการเจ็บปวดที่กระดูก และทำให้เกิดกระดูกผุ ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นโรคอิไตอิไต
  5. แคดเมียมสามารถสะสมได้ในร่างกายโดยเฉพาะที่ไต อีกทั้งยังทำลายระบบประสาท เช่น ระบบประสาทการดมกลิ่น และเลือดจาง การรับสารแคดเมียมในระยะสั้น

การรับสารแคดเมียมในระยะสั้นนั้นจะมีอาการดังต่อไปนี้

  1. การจับไข้
  2. มีอาการหนาวๆร้อนๆ
  3. ปวดศีรษะ
  4. อาเจียน

ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้นาน 20 ชั่วโมงก็จะเกิดอาการแน่นหน้าอก ไอรุนแรง และน้ำลายฟูมปากตามมา ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้รับสารส่วนใหญ่จะเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ มอเตอรไซด์ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมเหล็กที่มีแคดเมียมเป็นองค์ประกอบ

ที่มา วิกิพีเดีย

สารมลพิษทางอากาศ

สารก่อมะเร็งในอากาศ

สารก่อการกลายพันธุ์ในอากาศ

โลหะหนัก

จุลินทรีย์ในอากาศ

สารมลพิษทางอากาศภายในอาคาร

สารมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร