กลับ

แร่ใยหิน

แร่ใยหินเเป็นกลุ่มของแร่อนินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีองค์ประกอบหลักคือ ไฮดรัสซิลิเกต มีลักษณะเป็นเส้นใย มีคุณสมบัติแข็งแรง เหนียว มีความยืดหยุ่นสูง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำ ทนทานต่อเชื้อจุลินทรีย์ การกัดกร่อนของสารเคมี และการทำลายของแมลง แร่ใยหิน (Asbestos) แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม

1.กลุ่มแอมฟิโบล (Amphibole) มี 5 ชนิด คือ ครอซิโดไลท์ (Crocidolite) อะโมไซท์ (Amosite) ทรีโมไลท์ (Tremolite) แอนโทฟิลไลท์ (Anthophyllite) และแอคทิโนไลท์ (Actinolite)

2.กลุ่มเซอร์แพนไทน์ (Serpentine) มี 1 ชนิด คือ ไครโซไทล์ (Chrysotile)

แร่ใยหินที่เป็นวัตถุอันตราย ทำให้เกิดโรค

ไครโซไทล์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คือวัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับใบอนุญาต

กลุ่มแอมฟิโบล จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง

แร่ใยหินที่ใช้ในประเทศไทย

แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ (Chrysotile) หรือแอสเบสตอสสีขาว ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ได้

อันตรายจากแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็ง และโรคเกี่ยวกับระบบหายใจในมนุษย์ และไม่มียารักษาโดยตรง

ช่องทางการรับสัมผัสแร่ใยหิน: จมูก ปาก การสัมผัส 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคจากแร่ใยหิน

  • ปริมาณแร่ใยหินที่เข้าสู่ปอด
  • ความคงทนของเส้นใยเมื่ออยู่ในปอด
  • ขนาดของเส้นใย 
    1. 3.1.เส้นใยที่มีความยาวมากกว่า 5 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 3 ไมครอน และมีความทนทาน จะมีอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากเส้นใยจะสะสมและคงอยู่ในเนื้อเยื่อปอด เส้นใยที่มีความยาวกว่า 200 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 3 ไมครอนจะไม่ไม่สามารถเข้าสู่ถุงลมปอดได้มักจะสะสมอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน และถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยขับออกมากับเมือกเป็นเสมหะ
    2. 3.2.เส้นใยที่มีความยาวน้อยกว่า 5 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า 2 ไมครอน จะถูกกลไกของร่างกายกำจัดได้

โรคที่มีสาเหตุจากแร่ใยหิน

  • โรคมะเร็งปอด กล่องเสียงและรังไข่ เป็นโรคที่เกิดกับผู้ที่ทำงานที่มีการสัมผัสกับแร่ใยหินในรูปแบบต่าง ๆ มีระยะเวลาในการก่อโรคประมาณ 20 -30 ปี และยังพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • โรคเมโสเธลิโอมา เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหิน มีระยะเวลาก่อโรคประมาณ 35 – 40 ปี
  • โรคแอสเบสโตสิสหรือโรคปอดใยหิน เป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่มีการสัมผัสกับแร่ใยหินเท่านั้น โดยเส้นใยจากแร่ใยหินจะทำลายเนื้อเยื่อปอดทำให้เป็นแผล มีระยะเวลาในการก่อโรคประมาณ 15 – 35 ปี หรืออาจเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่ปี หากสัมผัสแร่ใยหินในปริมาณมากและเป็นประจำ
    กลุ่มเสี่ยง
  • คนงานในโรงงานที่ใช้แร่ใยหิน
  • กลุ่มผู้บริโภค เริ่มต้นการนำวัสดุไปใช้หรือรื้อถอนและกำจัดทิ้ง
  • คนงานในเหมือง

การป้องกัน

  • ด้านสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหิน หรือช่างก่อสร้างที่มีโอกาสสัมผัสแร่ใยหินโดยตรง ต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกันการสัมผัสแร่ใยหินอย่างเข้มงวด มีการตรวจสุขภาพทุกปีและมีการตรวจสุขภาพปอด
  • ด้านสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ประชาชนทั่วไปที่จะสร้างบ้าน หรือจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่อาจใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน

ที่มา สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

สารมลพิษทางอากาศ

สารก่อมะเร็งในอากาศ

สารก่อการกลายพันธุ์ในอากาศ

โลหะหนัก

จุลินทรีย์ในอากาศ

สารมลพิษทางอากาศภายในอาคาร

สารมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร