จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ไวรัส แบคทีเรีย รา พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ หรือแม้แต่ในมนุษย์ และ สัตว์ นอกจากนี้ แหล่งน้ำเสีย กองขยะ และพื้นที่ที่มีการสุขาภิบาลไม่ดี ยังเป็นแหล่งของจุลินทรีย์ก่อโรคที่สำคัญ จุลินทรีย์ในอากาศและสารพิษที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นมักพบอยู่ในลักษณะที่เกาะกับอนุภาคของละอองหรือฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่แขวนลอยในอากาศขนาดตั้งแต่ 0.02-100 ไมโครเมตร
จุลินทรีย์ในอากาศจะอาศัยอากาศเป็นตัวกลางในการแพร่กระจายอนุภาคเท่านั้น โดยไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ซึ่งการอยู่รอดของจุลินทรีย์ในอากาศขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิ รังสีอัลตราไวโอเลต ทิศทางของลม ความเร็วลม ขนาดของอนุภาค และความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น พื้นที่ที่แตกต่างกันย่อมมีการกระจายตัวของเชื้อจุลินทรีย์แตกต่างกันไป รวมทั้งปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศจะมีปริมาณที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับกิจกรรมของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เชื้อจุลินทรีย์ที่พบในอากาศส่วนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียและราสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ การอักเสบของตา คอ จมูก และโรคผิวหนังบางชนิดจากการติดเชื้อทางผิวหนัง จากผลการศึกษาชนิดของแบคทีเรียและเชื้อราที่พบในตัวอย่างฝุ่นละอองแขวนลอยในอากาศเหนือพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 8 เขต ได้แก่ เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตยานนาวา เขตบางขุนเทียน เขตธนบุรี เขตลาดพร้าว และ เขตดินแดง
นอกจากนี้ ยังปรากฏจุลินทรีย์ก่อโรคที่สำคัญหลายชนิดในฝุ่นละอองกระจายอยู่ทุกเขตที่ตรวจสอบ และพบกระจายตัวอยู่ในอากาศตลอดทั้งปี เช่น Bacillus cereus, Bacillus anthracis, Aspergillus, Curvularia, Pennicillium และ Cladosporium เป็นต้น (รุจิกาญจน์ นาสนิท และคณะ, 2558; ศิริรัตน์ จิ๋วเมือง, 2557) อย่างไรก็ตามพบความหลากหลายของจุลินทรีย์และความถี่ของจุลินทรีย์ในช่วงฤดูฝนน้อยกว่าในฤดูร้อนและฤดูหนาว [รูปที่ 5] การสูดหายใจสปอร์ของจุลินทรีย์เหล่านี้เข้าไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เช่น การเกิดภูมิแพ้ หอบหืด หรือปอดอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยจะขึ้นกับปริมาณของเชื้อที่ได้รับและสภาวะร่างกายในขณะนั้น นอกจากนี้ มีรายงานผลการศึกษาความหนาแน่นของเชื้อจุลินทรีย์ในฝุ่น PM2.5 ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งมีภาวะมลพิษทางอากาศในขณะนั้น (ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 สูงกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 10 เท่าของค่ามาตรฐานที่ทางกรมควบคุมมลพิษของไทยได้กำหนดไว้ใน 24 ชั่วโมง) โดย Cao และคณะ (2014) พบว่า ความชุกสัมพัทธ์ของจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 เกินมาตรฐานซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้ จำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบของจุลินทรีย์ก่อโรคในอากาศต่อสุขภาพของประชาชนด้วย นอกจากนี้ การปรากฏของ “แบคทีเรียต้านยาปฏิชีวนะ” หรือ “แบคทีเรียดื้อยา (antibiotic resistance)” ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพมนุษย์หากได้รับการติดเชื้อเ หล่านี้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานจุลินทรีย์ในอากาศทั้งภายในและนอกอาคาร ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค เช่น กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วยที่มา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท