มะเร็ง (Cancer)

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอายุเฉลี่ยของประชาชนชาวไทย มีแนวโน้มที่จะมีอายุ ที่ยืนยาวขึ้น คือ อายุเฉลี่ย ปี 2535 ปี 2539 เพศหญิง 68.7 ปี 71.1 ปี เพศชาย 63.2 ปี 66.6 ปี ทั้งนี้เนื่องจากความเจริญก้าวหน้า และการพัฒนาการในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขที่มี ประสิทธิภาพและให้บริการกว้างขวางมากขึ้น ตลอดจนการลดอุบัติการการเสียชีวิตของทารกแรกคลอดและอุบัติการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ

ปัจจุบันนี้ สาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนชาวไทย พบว่า

  1. อันดับที่ 1 คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด 78.9 รายต่อประชากรแสนคน
  2. อันดับที่ 2 คือ อุบัติเหตุ 61.5 รายต่อประชากรแสนคน
  3. อันดับที่ 3 คือ โรคมะเร็ง 50.9 รายต่อประชากรแสนคน

โรคมะเร็งคืออะไร

มะเร็งคือ เนื้องอกชนิดร้ายแรง ซึ่งจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการหยุดยั้ง มะเร็งจะสามารถมีการลุกลาม ไปสู่อวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ใกล้เคียง และยังสามารถมีการแพร่กระจายของโรคสู่อวัยวะที่ห่างไกลออกไปได้

อุบัติการของโรคมะเร็งในประเทศไทยเป็นอย่างไร

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้รวบรวมสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งในปี พ.ศ. 2533 พบว่ามีผู้ป่วย โรคมะเร็งใหม่จำนวนประมาณ 60,000 ราย โดยมีอุบัติการใน เพศชาย 153.6 รายต่อประชากรแสนคน ในเพศหญิง 128.5 รายต่อประชากรแสนคน

มีปัจจัยหรือสาเหตุหลายอย่างที่มีส่วนร่วมในการที่จะก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็ง โดยสาเหตุ ส่วนใหญ่พบว่า เป็นผลมาจากวิถีการดำเนินชีวิต และปัจจัยต่าง ๆ ทางสิ่งแวดล้อม สามารถแบ่งปัจจัยหรือสาเหตุต่าง ๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. 1. ปัจจัยหรือสาเหตุจากภายนอกร่างกาย
  2. 2. ปัจจัยหรือสาเหตุจากภายในร่างกาย

สารก่อมะเร็ง (Carcinogens) ในสิ่งแวดล้อม

การเกิดโรคมะเร็งเป็นขบวนการหลายขั้นตอน มีกลไกที่สลับซับซ้อนที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง (มะเร็งบางชนิดก็ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่มีโรคมะเร็งอีกมากชนิดที่ยังไม่ทราบกลไกที่ แน่นอน) และมีการเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตจากเซลล์มะเร็งเพียงเซลล์เดียวกลายเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมา ต่อมาจะมีการลุกลามเฉพาะที่และเกิดการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นในที่สุด ดังนั้นจะเห็นว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่ใช้ระยะเวลานานหลายปี ในการก่อให้เกิดโรคขึ้นมา ในปัจจุบันนี้ พอจะสรุปขบวนการของการเกิดมะเร็งเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ

  1. 1. ขบวนการเริ่มต้นโดยมีตัวกระตุ้น (Initiator) เป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ ทำลายยีนส์ (gene) ที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ตามปกติ เกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) ซึ่งใช้เวลาหลายปี
  2. 2. ตัวกระตุ้นเสิรม (Promotor) เมื่อเซลล์ปกติที่เกิดการกลายพันธุ์ ได้รับสิ่งกระตุ้นเสริมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดการเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งขึ้น

สารก่อมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในคน มีสารเคมีหลายชนิดที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะในสถานที่ประกอบอาชีพของบุคคลบางกลุ่มเป็นสารก่อมะเร็ง การกินพอดี จะทำให้ชีวิตมีความสุข และยืนยาว (Eat right, live longer) อาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนทั้งปริมาณและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคชนิดต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งโรคมะเร็งด้วย

ปัจจุบันนี้ พบว่าอาหารเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดโรคมะเร็งประมาณ 1/3 ของ อุบัติการทั้งหมดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง

สารพิษที่เพิ่มอัตราการเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง

  1. 1. สารพิษจากเชื้อรา มีหลายชนิด ได้แก่ อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) สเตอริกมาโตซีสติน (Sterigmatocystin) โอคราทอกซิน เอ (Achratoxin A) รูกูโลทอกซิน (Rugutotoxin) และ ลูติโอสกัยริน (Luteoskyrin) ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ ข้าวสุก ข้าวโพด ถั่วลิสง อาหารที่ถนอมโดยการตากแห้งที่มิได้ผ่าขบวนการอย่างถูกต้องมักจะมีเชื้อรา Aspergillus, Penicillium และสารพิษของมันปนเปื้อน คนไทยชายเป็นมะเร็งตับมากที่สุด ฉะนั้น ประชาชนควรได้รู้วิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงสารพิษ ดังกล่าว

  2. 2. สารเอ็นในโตรโป (N-nitroso compounds) ได้แก่ ไนโตรซามีน (Nitrosamines) และไนโตรซามีด (nitrosamides) เป็นสารที่เกิดจากของหมักดอง ระหว่างเกลือไนไตรท์ กับสารพวกเอมีนที่มาจากอาหารหรือยาหรือสารปราบศัตรูพืช สารพวกนี้ทำให้หนูพุกขาวเกิดมะเร็งที่ตับ, หลอดอาหาร, ระบบทางเดินหายใจ, ไต, ทางเดินอาหารและกระเพาะปัสสาวะ

  3. 3. สารก่อมะเร็งจากพืช ได้แก่ ไซเคซิน (Cycasin) จากผลมะพร้าวเต่าหรือปรง อะเรไคดีน (arechidine) และอะเรโคลีน (Arecoline) จากผลหมาก พทาควิโลไซด์ (Ptaquilosside) จากผลผักกูด สมุนไพรที่ใช้เป็นประจำควรได้รับการตรวจสอบว่ามีสารก่อมะเร็งร่วมด้วยหรือไม่

  4. 4. สารเจือปนในอาหาร และน้ำดื่ม ได้แก่ สีผสมอาหาร ที่ไม่ถูกต้องตามาตรฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข เช่น orange ll, Rhodamine B, Croceine scarlet 3B, Auramine, Melachite green, 4-Aminoazobenzene, Butter yellow ซึ่งเป็นสีที่ต้องห้ามทั้งหมด สีอนินทรีย์ที่ใช้ย้อมผ้า กระดาษและวัสดุต่างๆ ประกอบด้วยเกลือ สารตะกั่ว แคดเมี่ยมและปรอท สารชูรสต่างๆ เช่น ขันฑสกรหรือซัคคาริน (Saccharin) ไซคลาเมท (Cyclamate) สารเคมีที่ได้มาจากภาชนะ ได้แก่ สารโลหะหนัก สารไวนิลคลอไรด์โมโนเบอร์ (Vinyl chloride monomer)

  5. 5. สารที่เกิดจากการปรุงอาหาร ได้แก่ สารจำพวกโปลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH หรือ Polycyclic aromatic hydrocarbons) ในอาหารพวกเนื้อ/ไขมันเผา ปิ้ง ย่าง ด้วยฟืนหรือถ่านไฟ และปลาหรือเนื้อรมควัน มักจะมีสารก่อมะเร็ง PAH เช่น benzo (a) pyrene, dibenz (a,h) anthracenc, benzo (a) anthracenc และ dienzo (a,h) pyrene นอกจากนี้ยังมีสารจำพวกไพโรไลเซต (pyrolsates) ซึ่งมีหลายชนิดในอาหารพวกเนื้อที่ถูกปรุงหรือทำให้สุก โดยการเผา การปิ้ง การย่างที่มีอุณหภูมิสูงโดยตรงจนไหม้ดำเกรียม สารพวกนี้ ไดแก่ IQ, Mc-IQ, Trp-P-l, Glu-P-l และ Glu-P-L

  6. 6. มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารปราบศัตรูพืช ดีดีที คาร์บาเบท สารฆ่าหญ้า (2,4D,2,4,5 T, paraquat) สารโลหะหนัก แร่ใยหินหรือแอสเบสตอส เบอริลเลียม สารกัมมันตรังสีเหล่านี้ ทำให้เกิดมะเร็งทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อาจผ่าขบวนการ "โซ่อาหาร" ย้อนกลับไปสู่ผู้ใช้หรือชั่วลูกหลาน

  7. 7. อาหารดิบที่อาจมีพยาธิ เช่น ปลาดิบ ปลาร้า ปลาจ่อม ปูเค็ม ซึ่งอาจมีพยาธิใบไม้หรือไข่ของมัน พยาธิทำให้เกิดมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ในชาวไทยภาคอีสานซึ่งรับประทานอาหารที่ทำจากสัตว์น้ำและไม่ถูกทำให้สุก ตัวพยาธิจะทนต่อการหมัก/ดอง ความร้อนเท่านั้น จะสามารถทำลายไข่และตัวพยาธิได้

  8. 8. ยาสมุนไพรที่มีสารหนูหรืออาร์เซนิก สารหนูทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โดยการรับประทานอาหาร น้ำดื่มหรือยาแผนโบราณที่มีสารหนูที่เป็นส่วนประกอบ จึงพึงระวังโรคไข้ต่ำ ที่เกิดในประชาชนอำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช มีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ซึ่งมาจากแหล่งน้ำในเหมืองแร่เก่า

  9. 9. กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สารคาเฟอีนมีฤทธิ์ยับยังการช่วยซ่อมแซมโมเลกุล ดี เอ็น เอ (DNA repair) จึงทำให้เสริมฤทธิ์การทำลายทางพันธุกรรมของสารก่อกลายพันธุ์ และสารก่อมะเร็ง คาเฟอีนในขนาดสูงจะทำให้หนูเป็นมะเร็งตับอ่อน

  10. 10. เหล้าหรือเอทิลแอลกอฮอล์ มีหลักฐานมากมายที่แน่ชัดว่า เหล้าเป็นปัจจัยสำคัญทีทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะ มะเร็งตับ, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งทางเดินอาหาร, เหล้าทำให้เกิดโรคไขมันคั่งในตับ และโรคตับแข็งก่อนที่จะเป็นมะเร็งตับ เหล้าเป็นทูเมอร์โปรโมเตอร์ เหล้าทำให้อัตราการเกิดมะเร็งช่องปาก คอหอย และกล่องเสียงในคนสูบบุหรี่สูงถึง 10-20 เท่า อัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งจะเพิ่มตามจำนวนครั้งของการดื่มและเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในสุราที่ดื่ม

  11. ที่มา: สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์