แนวทางการใช้กลยุทธ์เพื่อลดมลพิษทางอากาศในบริบทของประเทศไทย
ดร. โฉมศรี ชูช่วย
คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่าคุณภาพอากาศที่แย่นั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลและองค์กรภาคเอกชนทั่วโลกจึงกำลังพัฒนาและทดลองใช้วิธีการต่างๆ มากมายในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ดังนั้นบทความนี้จึงอยากนำเสนอมุมมองและกลยุทธ์ที่ต่างประเทศนำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทยในการคิดริเริ่มปรับปรุงคุณภาพอากาศให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จากข้อบ่งชี้และหลักฐานมากมายที่ปรากฏอยู่ในบทความทางวิชาการเกี่ยวกับคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่มักเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก และนอกจากนี้งานวิจัยใหม่ๆยังชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย อย่างเช่น ผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลงและการสัมผัสกับคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่มีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าและอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นในสังคม [1]
ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศการตัดสินใจในเชิงนโยบายจึงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา เนื่องจากการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่มาตรฐานมลภาวะไปจนถึงการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพและแนวทางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญที่มีมีอิทธิพลต่อระดับการปล่อยมลพิษในอากาศ [2] โดยบทความนี้จะกล่าวถึงมาตรการการปรับปรุงคุณภาพอากาศในบริบทของการกำหนดนโยบายซึ่งได้รวบรวมข้อมูลเชิงนโยบายเข้ากับเนื้อหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับคุณภาพอากาศ โดยใช้ข้อมูลจากรัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับประเทศที่มีศักยภาพและบทบาทสำคัญที่สามารถลดระดับมลพิษทางอากาศได้โดยใช้กลยุทธ์และนโยบายด้านการปรับปรุงคุณภาพอากาศในการดำเนินการ ภายใต้บริบทของนโยบายที่เกี่ยวข้อง [3]
ภาพรวมของกลยุทธ์และนโยบายที่ประกาศใช้ในระดับสากลมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ ซึ่งแหล่งที่มาหลักของมลพิษทางอากาศ คือการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล [4] และมีหลักฐานงานวิจัยมากมายที่เชื่อมโยงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดมาจากการจราจรมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับผลกระทบทางด้านสุขภาพ [5] ในขณะที่ผลกระทบด้านคุณภาพอากาศจากแหล่งมลพิษทางอุตสาหกรรมและแหล่งอื่นๆมีแนวโน้มที่ยังคงความสม่ำเสมอหรือดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่ปัญหามลพิษจากการจราจรยังคงเป็นปัญหาหลักที่ทั่วโลกกำลังประสบ [6] ด้วยเหตุผลนี้จึงขอเน้นไปที่กลยุทธ์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจราจรและการขนส่งเป็นหลัก โดยข้อมูลเบื้องต้นของสารมลพิษทางอากาศที่สำคัญ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10), ไนโตรเจนออกไซด์ (NOX), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs), ไฮโดรคาร์บอน และโอโซน (O3) เป็นต้น ดังแสดงในตารางที่ 1 [7]
ตารางที่ 1. ชนิดของมลพิษอากาศและแหล่งกำเนิด (ประยุกต์จาก UNEP,1991)
ชนิดของมลพิษ | แหล่งมลพิษ | ข้อมูลเพิ่มเติม |
ฝุ่นละออง (PM) | การขนส่ง (รวมถึงควันไอเสียและการสึกหรอของยางและเบรก) การเผาไหม้ กระบวนการทางอุตสาหกรรม การก่อสร้างและการรื้อถอน การสูบบุหรี่ | อนุภาคที่เป็นอันตรายคืออนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 และ 10 ไมโครเมตร (PM2.5 และ PM10) |
ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) | การเผาไหม้เชื้อเพลิง | NOx เป็นคำที่ใช้เรียกไนโตรเจนออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมากที่สุด ซึ่งรวมถึงไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และไนตริกออกไซด์ (NO) |
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) | ถ่านหิน การเผาไหม้เชื้อเพลิง และอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก | – |
คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) | การเผาไหม้เชื้อเพลิงและปิโตรเลียมที่ไม่สมบูรณ์ | โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและการเผาไหม้และอุตสาหกรรม |
สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) | การขนส่งและการเผาไหม้ | VOCs เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ ระเหยได้ง่ายและทำปฏิกิริยากับตัวอื่นๆสารในแสงแดด |
ไฮโดรคาร์บอน | อุตสาหกรรมปิโตรเคมี | – |
โอโซน (O3) | O3 ก่อตัวเมื่อสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ไฮโดรคาร์บอนและ NOx ทำปฏิกิริยากับแสงแดด | – |
ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากลยุทธ์ในการปรับปรุงคุณภาพอากาศส่วนใหญ่ที่บ่งชี้ให้เห็นว่านำมาใช้แล้วได้ผลทำให้คุณภาพของอากาศดีขึ้นคือลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยดำเนินการผ่านกฎระเบียบและกฎหมาย ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งส่งเสริมการขนส่งทางเลือก อย่างเช่นขนส่งสาธารณะ แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงกลยุทธ์ด้านอื่นๆที่สำคัญและได้มีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติแล้วในต่างประเทศ อันได้แก่
1. เขตการปล่อยมลพิษต่ำ (Low Emission Zones: LEZ)
เขตปล่อยมลพิษต่ำ (LEZ) คือพื้นที่ที่จำกัดการใช้รถยนต์เพื่อจำกัดการปล่อยไอเสีย เป็นการวัดคุณภาพอากาศที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในเมืองต่างๆของยุโรป โดยมี LEZ ประมาณ 200 แห่งใน 12 ประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ อิตาลี สวีเดน และฮอลแลนด์ [8] โดยมีข้อกำหนดในการใช้กับยานพาหนะที่ใช้งานหนัก ซึ่งมักจะใช้น้ำมันดีเซล แต่ LEZ บางที่ก็รวมถึงยานพาหนะประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น รถยนต์ที่เก่ามากและมีอัตราการปล่อยสารมลพิษที่สูง ซึ่ง LEZ แต่ละโซนนั้นจะมีแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยุโรป และเป็นไปตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นประเภทของยานพาหนะที่อนุญาตให้เข้าได้จึงแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละสถานที่ อย่างเช่น เขตปล่อยมลพิษต่ำของลอนดอน ซึ่งใช้กับพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในถนนวงแหวน M25 มีข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่ของรถยนต์ดีเซล และตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 เป็นต้นมา พื้นที่ Congestion Charging ถูกกำหนดให้เป็นโซน Ultra Low Emission ซึ่งโซนนี้จะรวมการจำกัดการเข้าพื้นที่ของ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถตู้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดยิ่งขึ้น [9] และในเดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมาโซน Ultra Low Emission ได้ขยายไปยังพื้นที่ชั้นในของลอนดอนซึ่งล้อมรอบด้วยถนนวงแหวนทั้งทิศเหนือและทิศใต้
จากการกำหนดเขตปล่อยมลพิษต่ำ (LEZ) มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงให้เห็นว่าสามารถส่งผลดีต่อคุณภาพอากาศ [25] แม้ว่าประสิทธิภาพจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของสถานที่ และความเข้มงวดของข้อกำหนดของโซน ตัวอย่างเช่น การศึกษาในห้าเมืองของเนเธอร์แลนด์พบว่าเขตการปล่อยมลพิษต่ำที่ห้ามยานพาหนะที่ขนสินค้าหนัก อย่างเช่นรถบรรทุก เพียงอย่างเดียวส่งผลต่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยงานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าถ้าหากมีการจำกัดการเข้าพื้นที่ของยานพาหนะประเภทอื่นด้วยจะยิ่งขึ้นทำให้ได้ผลลัพธ์คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น [10] แต่ในทางกลับกันการกำหนดโซน LEZ ส่งผลให้พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ LEZ มีความแออัดของการจราจรเพิ่มมากขึ้นและเพิ่มความไม่สะดวกสบายของผู้ขับขี่ ดังนั้นมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าความแออัดของการจราจรมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากรจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวหันไปใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลให้คุณภาพอากาศดียิ่งขึ้น [11]
2. การจัดการความเร็ว
การจำกัดความเร็วเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและประหยัดต้นทุนในการลดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศริมถนนได้ดีทีสุด [12] และรวมอยู่ในแผนปรับปรุงคุณภาพอากาศในแถบประเทศยุโรปหลายแห่ง [13] ตัวอย่างเช่น รัฐบาลเวลส์เพิ่งใช้นโยบายจำกัดความเร็ว 50 ไมล์/ชม. บนถนนสายหลัก 5 สาย [14] และนอกจากนี้ยังมีการจำกัดความเร็ว 20 ไมล์/ชม. ในใจกลางกรุงลอนดอน ถึงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงสภาพความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นหลักก็ตาม [15] แต่จากนโยบายนี้ก็ส่งผลดีต่อการปรับปรุงคุณภาพอากาศ เนื่องจากการปล่อยมลพิษในช่วงความเร็วที่ต่ำโดยทั่วไปเกิดจากลักษณะการหยุด-สตาร์ทของช่วงการจราจร [11] รวมถึงมลพิษที่เกิดจากการสึกหรอของเบรกและยาง จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการใช้ความเร็วที่ 20 ไมล์/ชม. แล้วหยุดรถจะปล่อยฝุ่นละอองออกจากเบรกประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับความเร็วที่ใช้ 30 ไมล์/ชม. [16] แต่ทั้งนี้มาตรการการจัดการความเร็วก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในท้องถิ่นและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพโดยรอบถนน ตัวอย่างเช่น ในอัมสเตอร์ดัม การจำกัดความเร็วลดลงจากประมาณ 62 ไมล์/ชม. เป็น 50 ไมล์/ชม. ซึ่งส่งผลให้ความเข้มข้นของ PM ลดลง แต่ไม่มีผลต่อสารมลพิษตัวอื่น อย่างเช่น NOx [17] และนอกจากนี้นโยบายการจัดการความเร็วยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้วยแคมเปญ “การขับขี่เชิงนิเวศ” ที่ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบการขับขี่ที่ประหยัดน้ำมัน ซึ่งเป็นโครงการขับขี่เชิงนิเวศที่ดำเนินการในเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี 1994 และ 2004 ซึ่งลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ประมาณ 0.3 และ 0.8% [18]
3. กลยุทธ์ในการรับรู้
กลยุทธ์นี้เป็นการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มการรับรู้ เข้าใจและการปฏิบัติตามข้อกำหนดของสาธารณชนทางด้านมลพิษทางอากาศร่วมกับโครงการด้านอื่นๆ [19] อย่างเช่น สายการบินสิงคโปร์มีกลยุทธ์ด้านคุณภาพเน้นการสร้างความเป็นเจ้าของชุมชนในประเด็นคุณภาพอากาศและจัดเป็นประจำทุกปี ได้แก่ ‘วันชุมชนและเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อม’ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการจัดกิจกรรม ‘green champions’ ในเขตลอนดอนชั้นใน เพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกของชุมชนเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและแนวทางการลดมลภาวะเป็นต้น [20]
ในทางกลับกันแรงผลักดันในการเป็นเจ้าของสิ่งแวดล้อมอาจเกิดขึ้นจากตัวชุมชนเอง มากกว่าจากหน่วยงานท้องถิ่นหรือระดับประเทศ อย่างเช่น ในปี 2017 ประชาชนที่อาศัยในย่านชานเมือง Kings Heath ของ Birmingham ได้ร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษา Earthsense เพื่อตรวจสอบระดับมลพิษในท้องถิ่น เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรม ” Clean Air Day” [21] และนอกจากนี้สหภาพยุโรปยังให้ทุนสนับสนุนโครงการ CITI-SENSE ซึ่งมีอาสาสมัครประมาณ 400 คนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งและตรวจสอบเซ็นเซอร์คุณภาพอากาศ 324 ยูนิตทั่วยุโรป [22] ดังนั้นในบริบทของประเทศไทยการริเริ่มที่นำโดยชุมชนอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะยาวหากไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทางภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตามความคิดริเริ่มที่นำโดยชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในระดับสูง แสดงให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่รับทราบและกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้นกลยุทธ์และนโยบายต่างๆที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการจัดการคุณภาพอากาศจากการดำเนินการของต่างประเทศ อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกันกับหลายภาคส่วน อย่างเช่น การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน หน่วยงานที่ให้ความรู้ทางด้านวิชาการ และ NGOs ในการออกแบบและดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อยกระดับคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้ดีขึ้น
อ้างอิง
[1] Zivin, J.G.; Neidell, M. Air pollution’s hidden impacts. Science 2018, 359, 39–40.
[2] Heft-Neal, S.; Burney, J.; Bendavid, E.; Burke, M. Robust relationship between air quality and infant mortality in Africa. Nature 2018, 559, 254–258.
[3] Stone, D. Transfer and translation of policy. Policy Stud. 2012, 33, 483–499.
[4] WHO Global Ambient Air Quality Database. Available online: http://www.who.int/airpollution/data/cities/en
[5] Slovic, A.; Ribiero, H. Policy instruments surrounding urban air quality: The cases of São Paulo, New York City and Paris. Environ. Sci. Policy 2018, 81, 1–9.
[6] Causes of Air Pollution. Available online: https://uk-air.defra.gov.uk/air-pollution/causes
[7] UNEP. Urban air pollution monitoring : report of a meeting of UNEP/WHO Government-Designated Experts, Geneva, 5-8 November 1991.
[8] Holman, C.; Harrison, R.; Querol, X. Review of the efficacy of low emission zones to improve urban air quality in European Cities. Atmos. Environ. 2015, 111, 161–169.
[9] Low Emission Zone. Available online: https://tfl.gov.uk/modes/driving/low-emission-zone
[10] Boogaard, H.; Janssen, N.A.H.; Fischer, P.H.; Kos, G.P.A.; Weijers, E.P.; Cassee, F.R.; van der Zee, S.C.;de Hartog, J.J.; Meliefste, K.; Brunekreef, B.; et al. Impact of low emission zones and local traffic policies on ambient air pollution concentrations. Sci. Total Environ. 2012, 435–436, 132–140.
[11] Santos, G.; Behrendt, H.; Teytelboym, A. Part II: Policy instruments for sustainable road transport. Res. Transp. Econ. 2010, 28, 46–91.
[12] Porter, C.; Kall, D.; Selin, T.; Baker, R.; Kishan, S.; Preusse, D.; Stanard, A. Evaluate the Interactions between\Transportation-Related Particulate Matter, Ozone, Air Toxics, Climate Change, and Other Air-Pollutant Control Strategies; NCHRP No. 25-25, Task 59; Transportation Research Board: Washington, DC, USA, 2010.
[13] D’Elia, I.; Piersanti, A.; Briganti, G.; Cappelletti, A.; Ciancarella, L.; Peschi, E. Evaluation of mitigation measures for air quality in Italy in 2020 and 2030. Atmos. Pollut. Res. 2018, 9, 977–988.
[14] £20M Air Quality Fund among New Measures to Improve Air Quality in Wales. Available online: https://gov.wales/newsroom/environmentandcountryside/2018/180424-20m-airquality-fund-amongnew-measures-to-improve-air-quality-in-wales/?lang=en
[15] Mayor, TfL and the Met Launch Plan to Eliminate Deaths and Serious Injuries on London’s Roads. Available online: https://tfl.gov.uk/info-for/media/press releases/2018/july/mayor-tfl-and-the-met-launch-plan toeliminate-deaths-and-serious injuries-on-london-s-roa
[16] The Polluting Effect of Wear and Tear in Brakes and Tyres. Available online: https://www.theguardian.com/environment/2016/sep/11/polluting-eect-wear-brakes tyres-pollutionwatch
[17] Dijkema, M.; van der Zee, S.; Brunekreef, B.; van Strien, R. Air quality effects of an urban highway speed limit reduction. Atmos. Environ. 2008, 42, 9098–9105.
[18] Harmsen, R.; van den Hoed, R.; Harmelink, M. Improving the Energy Efficiency of Road Transport: The Case of Eco-Driving in the Netherlands. In Proceedings of the European Council for an Energy Efficient Economy Conference, La Colle sur Loup, France, June 2007.
[19] Bigazzi, A.Y.; Rouleau, M. Can traffic management strategies improve urban air quality? A review of the evidence. J. Transp. Health 2017, 7, 111–124.
[20] Hesketh, R.; Jones, L.; Hinrichs-Krapels, S.; Kirk, A.; Johnson, S. Air Quality Improvement Initiatives in Other Cities: A Brief Review of Evidence to Inform Westminster City Council Air Quality Task Group; The Policy Institute, King’s College London, UK; Westminster City Council: Westminster, UK, 2017.
[21] BBC TV Shows Community Actions Can Tackle UK Urban Air Pollution. Available online: http://www.environmenttimes.co.uk/news/item/605-bbc-tv-shows-community-action-tackling-ukurban-air-pollution
[22] CORDIS. CITI-SENSE—Result in Brief: Citizen-Based Air Quality Monitoring. European Commission: Norway, 2017. Available online: https://cordis.europa.eu/project/rcn/106482/brief/en
ลิงค์ไปสื่อ https://mgronline.com/daily/photo-gallery/9640000117575