PM2.5 กับการแสดงออกทางพฤติกรรมและการก่ออาชญากรรม

ดร. โฉมศรี ชูช่วย

คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ปัญหามลภาวะทางอากาศนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมของคนเราในทางที่ไม่ดีอีกด้วยและยังมีการค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับอัตราการก่ออาชญากรรมรุนแรงที่เพิ่มขึ้น นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักสถิติ และนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในท้องถิ่นนั้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส (aggravated assault) ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการมากมายที่บ่งชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับปัญหาที่เกิดตามมาในอีกหลายมิติทั้ง สุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านสุขภาพที่จะเชื่อมโยงไปสู่อีกหลายปัญหา โดยการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาและพิษวิทยาแสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่  [1-3] ในด้านเศรษฐกิจก็มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่มาสนับสนุนให้เห็นว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้ประชากรต้องสูญเสียรายได้ที่ต้องนำมาใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากการสัมผัสกับสารมลพิษในอากาศ [4-6] และการขาดแรงงานในภาคการผลิตเนื่องจากการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น [7-9]

กลไกที่เชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศในระยะยาวกับผลกระทบทางด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์มักจะได้รับความสนใจและได้รับการประเมินมากกว่าผลกระทบที่เกิดระยะสั้น อย่างเช่น การประเมินผลกระทบทางด้านโรคเรื้อรังต่างๆ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด ตลอดจนภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ แต่มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆที่ชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของเราด้วยเช่นกัน [10] จากการศึกษาในเซี่ยงไฮ้และในลอสแองเจลิส พบว่าปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองในระดับที่สูงขึ้นจะเพิ่มพฤติกรรมที่กระทำผิดของวัยรุ่นในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศยังสามารถทำให้เกิดการอักเสบในสมองได้ ยิ่งไปกว่านั้น อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กยังเป็นอันตรายต่อสมองที่กำลังพัฒนา เนื่องจากมันสามารถทำลายสมองและโครงข่ายประสาท และส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ [11,12] โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่าวิถีกลไกแบบเดียวกันนี้มีผลต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การแสดงออกทางพฤติกรรม (เช่น ก้าวร้าว ต่อต้านสังคม) ซึ่งเกิดจากผลกระทบระยะสั้นที่เกิดจากมลพิษทางอากาศและมีความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับอัตราการก่ออาชญากรรมหรือความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสังคมเมือง [13,14]

จากงานวิจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับที่สูงขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิตรวมทั้งภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อความสามารถในการรับรู้และอาจทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ดังนั้นในอนาคตอันใกล้อาจถึงเวลาแล้วที่ระดับมลพิษทางอากาศจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการในการติดตามอัตราการเกิดอาชญากรรม ซึ่งมีอ้างอิงจากการศึกษาของ London School of Economics พบแง่มุมที่น่าตกใจของงานวิจัยนี้คือการที่อาชญากรรมเล็กน้อย อย่างเช่นการโจรกรรม (รวมถึงการขโมยของในร้านและการล้วงกระเป๋า) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากระดับมลพิษทางอากาศ  นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบข้อมูลอาชญากรรมพบการก่อเหตุ 1.8 ล้านครั้งในช่วงสองปีเมื่อเทียบกับข้อมูลมลพิษทางอากาศจากเขตเมือง ซึ่งในการศึกษาได้มีการวิเคราะห์พิจารณาปัจจัยต่างๆร่วมด้วย เช่น อุณหภูมิ ความชื้นและปริมาณน้ำฝน ช่วงวันในสัปดาห์ และฤดูกาลต่างๆ และผลการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่า อัตราการเกิดอาชญากรรมในลอนดอนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เพิ่มขึ้น และเมื่อ AQI สูงกว่า 35 ก็ส่งผลให้อัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น 2.8% โดยมลพิษทางอากาศมีอิทธิพลต่ออาชญากรรมทั้งในย่านที่ร่ำรวยและยากจนที่สุดของลอนดอน [15] และจากการศึกษาความสัมพันธ์ของมลพิษทางอากาศ (PM2.5 และ Ozone) กับการก่ออาชญากรรมในสหรัฐอเมริกา โดยการประเมินผลกระทบของการสัมผัสมลพิษทางอากาศในระยะสั้น (PM2.5  และ Ozone) ต่ออัตราการก่ออาชญากรรมหลายประเภทซึ่งเน้นไปที่พฤติกรรมก้าวร้าว โดยการรวบรวมข้อมูลรายวันโดยละเอียดเกี่ยวกับอาชญากรรม มลพิษทางอากาศ และสภาพอากาศเป็นเวลา 8 ปี ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา จากการศึกษานี้สามารถชี้ให้เห็นว่าระดับความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่มีค่าสูงขึ้นจะส่งผลต่ออัตราการก่ออาชญากรรมที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำร้ายร่างกาย แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศกับการก่ออาชญากรรมต่อทรัพย์สิน และการก่ออาชญากรรมประเภทการใช้ความรุนแรงนี้จะส่งผลกระทบทั้งในและนอกบ้าน นอกจากนี้ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่านโยบายการลด PM2.5 หรือ Ozone รายวันเพียง 10% สามารถประหยัดต้นทุนอาชญากรรมได้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศที่มองข้ามไปก่อนหน้านี้ [16] ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศและประชากรในหลายพื้นที่สัมผัสกับมลพิษที่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเหตุนี้อาจส่งผลให้การก่ออาชญากรรมในประเทศสูงขึ้นด้วย แต่เนื่องจากในประเทศไทยการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของมลพิษทางอากาศต่อการก่ออาชญากรรมได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้นทั้งๆที่ในหลายเมืองของประเทศคุณภาพอากาศอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งข้อมูลการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศกับการก่ออาชญากรรมจะมีการศึกษาในต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานอยู่บ่อยครั้งจะมีโอกาสได้รับความเครียดสะสมจากปัญหามลพิษทางอากาศที่ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขอย่างยั่งยืน ทำให้ฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อการรับรู้ การแบกรับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การก่อเหตุอาชญากรรมเพิ่มขึ้นในวันที่มีมลพิษทางอากาศย่ำแย่  ซึ่งจากงานวิจัยที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลกระทบของมลพิษทางอากาศมีมากกว่าผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากหลักฐานงานวิจัยมากมายในประเทศไทยที่พิสูจน์ว่าคุณภาพอากาศที่ไม่ดีส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนไทยแล้วนั้น งานวิจัยต่างๆทั่วโลกก็ยังยังชี้ให้เห็นชัดว่า “การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศส่งผลโดยตรงต่อสมองและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม” ผลกระทบเหล่านี้อาจเพิ่มความหุนหันพลันแล่นของผู้คนและยกระดับสิ่งที่เรียกว่าการตอบสนองต่อความเครียด “ต่อสู้หรือหนี” ดังนั้น ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทะเลาะวิวาทกับเพื่อนบ้าน อาจรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลให้เกิดการทะเลาะวิวาททางกายภาพที่รุนแรงมากขึ้นและอัตราการก่ออาชญากรรมก็มีอัตราที่สูงขึ้นด้วย  ดังนั้น พื้นที่ไหนที่มีมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้การแสดงออกทางพฤติกรรมของประชากรมีแนวโน้มที่จะความรุนแรงขึ้น โดยข้อมูลนี้สามารถส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เผชิญเหตุอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ  และนอกจากนี้การดำเนินการร่วมกันโดยรัฐบาลระดับชาติ ระดับท้องถิ่นรวมถึงองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องและประชาชนจำเป็นต้องจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น การออกกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีความมั่นใจว่าเราทุกคนสามารถสูดอากาศบริสุทธิ์ และรับประโยชน์สูงสุดจากความผาสุกทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

อ้างอิง

[1] Archsmith, J., Heyes, A., Saberian, S., 2018. Air quality and error quantity: pollution and performance in a high-skilled, quality-focused occupation. J. Assoc. Environ. Resour. Econ. 5, 827–863.

[2] Di, Q., Dai, L., Wang, Y., Zanobetti, A., Choirat, C., Schwartz, J.D., Dominici, F., 2017a. Association      of short-term exposure to air pollution with mortality in older adults. Jama 318, 2446–2456.

[3] Di, Q., Wang, Y., Zanobetti, A., Wang, Y., Koutrakis, P., Choirat, C., Dominici, F., Schwartz, J.D.,            2017b. Air pollution and mortality in the Medicare population. N. Engl. J. Med. 376, 2513–2522.

[4] Currie, J., Graff Zivin, J., Mullins, J., Neidell, M., 2014.What do we know about short- and long-term    effects of early-life exposure to pollution? annual review of resource economics. Ann. Rev. Resour. Econ. 6, 217–247.

[5] Deryugina, T., Heutel, G., Miller, N.H., Molitor, D., Reif, J., 2016. The Mortality and Medical Costs        of Air Pollution: Evidence from Changes in Wind Direction. Working Paper No. 22796. National Bureau of Economic Research. Nov.

[6] Schlenker,W.,Walker,W.R., 2016. Airports, air pollution, and contemporaneous health. Rev. Econ.         Stud. 83, 768–809.

[7] Borgschulte, M., Molitor, D., Zou, E., 2018. Air Pollution and the Labor Market: Evidence from Wildfire Smoke.

[8] Graff Zivin, J., Neidell, M., 2012. The impact of pollution on worker productivity. Am. Econ. Rev.         102, 3652–3673.

[9] Hanna, R., Oliva, P., 2015. The effect of pollution on labor supply: evidence from a natural experiment in Mexico City. J. Public Econ. 122, 68–79.

[10] Glantz, S.A., 2002. Air Pollution as a Cause of Heart Disease: Time for Action.

[11] Samet, J.M., Dominici, F., Curriero, F.C., Coursac, I., Zeger, S.L., 2000. Fine particulate air pollution     and mortality in 20 US cities, 19871994. N. Engl. J. Med. 343, 1742–1749.

[12] Schwartz, J., 2001. Air pollution and blood markers of cardiovascular risk. Environ. Health Perspect.   109, 405.

[13] Kioumourtzoglou, M.A., Power, M.C., Hart, J.E., Okereke, O.I., Coull, B.A., Laden, F., Weisskopf,     M.G., 2017. The association between air pollution and onset of depression among middle-aged             and older women. Am. J. Epidemiol. 185, 801–809.

[14] Lu, J.G., Lee, J.J., Gino, F., Galinsky, A.D., 2018. Polluted morality: air pollution predicts criminal         activity and unethical behavior. Psychol. Sci. 29, 340–355.

[15] Bondy, M., Roth, S., Sager, L., 2020. Crime Is in the Air: The Contemporaneous Relationship              between Air Pollution and Crime. J Assoc Environ Resour Econ.  7(3), 555-585. [16] Burkhardt, J., Bayhama, J., Wilson, A., Carter, E., Berman, J.D., O’Dell, K., Ford, B., Fischer, E.V., Pierce, J.R., 2019. The effect of pollution on crime: Evidence from data on particulate matter and ozone. J. Environ. Econ. Manag. 98, 102267.

ลิ้งค์ไปสื่อ https://mgronline.com/daily/detail/9640000086204

สารมลพิษทางอากาศ

สารก่อมะเร็งในอากาศ

สารก่อการกลายพันธุ์ในอากาศ

โลหะหนัก

จุลินทรีย์ในอากาศ

สารมลพิษทางอากาศภายในอาคาร

สารมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร